การติดต่อกับบอร์ด MCU ผ่าน USB ด้วย Arduino
- วิกินี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 01204223
ที่ผ่านมานั้นเราใช้พอร์ท USB เป็นเพียงแหล่งจ่ายพลังงานและโปรแกรมเฟิร์มแวร์เท่านั้น วิกินี้อธิบายถึงขั้นตอนและตัวอย่างการพัฒนาเฟิร์มแวร์ภายใต้สภาพแวดล้อมของ Arduino เพื่อให้บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์จำลองตัวเองเป็นอุปกรณ์ USB ความเร็วต่ำ สำหรับสื่อสารกับแอพลิเคชันที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้
เนื้อหา
ไลบรารีและเครื่องมือที่จำเป็น
ให้แน่ใจว่าได้ติดตั้งไลบรารีและเครื่องมือที่จำเป็นตามที่ได้อธิบายไว้ในวิกิด้านล่าง ก่อนเริ่มทำตามขั้นตอนในวิกินี้
การใช้งานไลบรารี V-USB
การเขียนโค้ดเพื่อเรียกใช้งานไลบรารี V-USB ภายใต้สภาพแวดล้อมของ Arduino มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
- สร้างไฟล์ usbconfig.h เพื่อบอกไลบรารี V-USB ถึงคุณลักษณะของอุปกรณ์ USB ที่เราต้องการให้บอร์ด MCU จำลองตัวเองขึ้นมา เนื่องจากการตั้งค่าต่าง ๆ ถูกระบุไว้ในรูปมาโครเป็นจำนวนมาก วิธีที่สะดวกและเสี่ยงต่อความผิดพลาดน้อยที่สุดคือคัดลอกเนื้อหามาจากไฟล์ usbconfig-prototype.h ที่อยู่ในไดเรคตอรี usbdrv ที่ได้จากการติดตั้ง V-USB ตามขั้นตอนก่อนหน้านี้ การตั้งค่าหลัก ๆ ที่สำคัญได้แก่
USB_CFG_VENDOR_ID
และUSB_CFG_DEVICE_ID
ใช้กำหนดค่า Vendor ID (VID) และ Product ID (PID) ให้กับอุปกรณ์ USB ตัวเลขคู่นี้จะถูกตีความโดยระบบปฏิบัติการว่าเป็นอุปกรณ์ USB ประเภทใด เช่นเครื่องพิมพ์ เมาส์ คียบอร์ด ฯลฯ เพื่อที่ตัวระบบปฏิบัติการจะได้จัดหาตัวขับเคลื่อนอุปกรณ์ (device driver) มาใช้งานได้อย่างเหมาะสม ในตัวอย่างนี้มีการกำหนดค่า VID และ PID ให้เป็น 0x16c0 และ 0x05dc ตามลำดับ ซึ่งเป็นการไม่ระบุประเภทอุปกรณ์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากหัวข้อ #เกี่ยวกับหมายเลข VID/PIDUSB_CFG_VENDOR_NAME
ใช้กำหนดชื่อผู้ผลิตอุปกรณ์ที่จะปรากฏให้เห็นผ่านระบบปฏิบัติการ ระบุในรูปรายการอักขระคั่นด้วยคอมม่า พร้อมทั้งระบุความยาวชื่อให้กับมาโครUSB_CFG_VENDOR_NAME_LEN
ในที่นี้เราจะกำหนดชื่อผู้ผลิตเป็น cpe.ku.ac.th เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของไลบรารี V-USBUSB_CFG_DEVICE_NAME
ใช้กำหนดชื่อของอุปกรณ์ที่จะปรากฏให้เห็นผ่านระบบปฏิบัติการ ระบุในรูปรายการอักขระคั่นด้วยคอมม่า พร้อมทั้งระบุความยาวชื่อให้กับมาโครUSB_CFG_DEVICE_NAME_LEN
ในที่นี้ให้กำหนดชื่อในรูป ID xxxxxxxxxx โดยที่ xxxxxxxxxx แทนรหัสนิสิตของตน
- สร้าง Arduino Sketch ขึ้นมาใหม่ แล้วพิมพ์คำสั่งต่อไปนี้ที่ส่วนหัวของไฟล์
extern "C" {
#include "usbdrv.h"
}
- คำสั่งข้างต้นเป็นการเรียกไลบรารี V-USB มาใช้งาน แต่เนื่องจากไลบรารี V-USB ออกแบบไว้ใช้กับภาษา C ในขณะที่โค้ด Arduino เป็นภาษา C++ จึงต้องครอบไว้ด้วยคำสั่ง extern ดังที่เห็น
- นิยามฟังก์ชัน setup() เพื่อกำหนดหน้าที่ของขาอินพุทเอาท์พุทตามปกติ และเพิ่มโค้ดสำหรับสั่งไลบรารี V-USB ให้เตรียมการเบื้องต้นลงไปด้วยดังนี้
void setup()
{
// ตั้งค่าอินพุท/เอาท์พุทตามปกติ
// :
// สั่งให้ V-USB เตรียมตัวขั้นต้น
usbInit();
usbDeviceDisconnect();
delay(300);
usbDeviceConnect();
}
- นิยามฟังก์ชัน loop() ให้มีการเรียกใช้ฟังก์ชัน usbPoll() ของไลบรารี V-USB โดยให้แน่ใจว่าฟังก์ชันนี้ต้องถูกเรียกซ้ำ ๆ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 50 มิลลิวินาทีอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นอุปกรณ์จะตอบสนองต่อคำร้องขอจากโฮสท์ไม่ทันและมีผลทำให้โฮสท์ตัดการเชื่อมต่อในที่สุด
void loop()
{
// ประมวลผลตามต้องการ แต่ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 50 มิลลิวินาที
// :
// สั่ง V-USB ให้เฝ้าดูสัญญาณการร้องขอจากโฮสท์
usbPoll();
}
- เมื่อพบว่ามีคำร้องขอจากโฮสท์ ไลบรารี V-USB จะเรียกหาฟังก์ชัน usbFunctionSetup() เพื่อประมวลผลคำร้องขอนั้น เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสร้างฟังก์ชันนี้ขึ้นมา
usbMsgLen_t usbFunctionSetup(uint8_t data[8])
{
usbRequest_t *rq = (usbRequest_t*)data;
// ประมวลผลข้อมูลภายในคำร้องขอผ่านทางตัวแปร rq
// :
}
- เนื่องจาก Arduino IDE ยังไม่สามารถคอมไพล์โค้ดที่เรียกใช้งานไลบรารี V-USB โดยตรงได้ ให้คอมไพล์เฟิร์มแวร์ด้วย Arduino-Makefile โดยการสร้างไฟล์ Makefile ไว้ในที่เดียวกันกับที่เก็บ Arduino Sketch แล้วเรียกใช้คำสั่ง make หรือ make ispload จากเทอร์มินัล
โครงสร้างของคำร้องขอ USB ที่รับจากฝั่งคอมพิวเตอร์
ตามสถาปัตยกรรม USB นั้นการสื่อสารจะถูกเริ่มจากการที่ฝั่งคอมพิวเตอร์ (ฝั่งโฮสท์) ส่งคำร้องขอไปยังฝั่งอุปกรณ์เสมอไม่ว่าจะต้องการอ่านหรือเขียนข้อมูลไปยังอุปกรณ์ USB ก็ตาม ข้อมูลคำร้องขอมีขนาด 8 ไบต์ ซึ่งมีโครงสร้างดังนี้ (นิยามโครงสร้างนี้เป็นส่วนหนึ่งของไลบรารี V-USB จึงไม่ต้องเขียนขึ้นมาเอง)
typedef struct usbRequest{
uchar bmRequestType; /* 1 ไบท์ */
uchar bRequest; /* 1 ไบท์ */
usbWord_t wValue; /* 2 ไบท์ */
usbWord_t wIndex; /* 2 ไบท์ */
usbWord_t wLength; /* 2 ไบท์ */
}usbRequest_t;
bmRequestType
ประกอบด้วยฟิลด์ย่อย 3 ฟิลด์ดังต่อไปนี้
- บิต 7 ทิศทางการส่งข้อมูล (Data Phase Transfer Direction)
- 0 = จากคอมพิวเตอร์ไปอุปกรณ์ USB (Host to Device)
- 1 = จากอุปกรณ์ USB มายังคอมพิวเตอร์ (Device to Host)
- บิต 6..5 ประเภทคำร้องขอ (Type)
- 0 = Standard
- 1 = Class
- 2 = Vendor
- ฟังก์ชัน
usbFunctionSetup
ที่เราต้องเขียนขึ้นนั้นจะถูกเรียกใช้เมื่อค่าในฟิลด์ Type นี้มีค่า 2 (Vendor) เท่านั้น
- บิต 4..0 ผู้รับ (Recipient)
- 0 = Device
- 1 = Interface
- 2 = Endpoint
- 3 = Other
bRequest
ระบุหมายเลขคำร้องขอ คำร้องขอตามมาตรฐานของ USB นั้นมีประเภทเป็น Standard ซึ่งจะถูกประมวลผลจากไลบรารี V-USB อัตโนมัติ เราจึงไม่ต้องสนใจในส่วนนี้ ส่วนที่เราต้องรับผิดชอบคือคำร้องขอแบบ Vendor ซึ่งต้องถูกออกแบบไว้ล่วงหน้าแล้วว่าอุปกรณ์ USB ของเราจะรองรับคำร้องขอหมายเลขอะไรบ้าง โดยในฟังก์ชันusbFunctionSetup
ของเราต้องประมวลผลคำร้องขอเหล่านี้ได้ถูกต้องwValue
และwIndex
ทั้งคู่เป็นฟิลด์ที่ไม่มีความหมายใดในกรณีที่คำร้องขอเป็นแบบ Vendor ดังนั้นเราจึงมีอิสระเต็มที่ในการใช้งานฟิลด์ทั้งคู่นี้เป็นตัวส่งรายละเอียดของคำร้องขอ ซึ่งส่งได้สูงสุด 4 ไบท์wLength
กำหนดขนาดของข้อมูลเพิ่มเติมที่จะส่งจากฝั่งโฮสท์หรือจากอุปกรณ์ USB หากไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม ค่านี้จะถูกเซ็ตเป็นศูนย์
คำร้องขอนี้จะถูกส่งมายังโค้ดของเราผ่านมาทางฟังก์ชัน usbFunctionSetup() ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ภายในคำร้องขอ แล้วตอบสนองไปยังโฮสท์ ซึ่งเป็นไปได้สองกรณีคือ
- ไม่มีข้อมูลส่งกลับให้โฮสท์ ให้ใช้คำสั่ง
return 0
ออกจากฟังก์ชันตามปกติ - มีข้อมูลส่งกลับให้โฮสท์ ให้ตั้งค่าตัวแปร
usbMsgPtr
(V-USB ประกาศไว้ให้แล้ว) ให้ชี้ไปยังตำแหน่งหน่วยความจำที่เก็บข้อมูลที่ต้องการส่งคืนโฮสท์ จากนั้นใช้คำสั่งreturn len
โดยที่ len คือจำนวนไบต์ของข้อมูลที่ต้องการส่งกลับ ซึ่งส่งคืนได้ทีละไม่เกิน 8 ไบต์ ระวังว่าข้อมูลนี้ต้องยังอยู่ในหน่วยความจำแม้จะออกจากฟังก์ชัน usbFunctionSetup ไปแล้ว ตัวแปรที่ใช้เก็บข้อมูลส่งกลับจึงต้องถูกประกาศเป็นแบบโกลบอลหรือแบบสแตติก
ส่วนของโค้ดด้านล่างส่งค่า 12 และ 34 (ฐานสิบ) กลับไปยังโฮสท์เมื่อได้รับคำร้องขอหมายเลข 38 (ฐานสิบ) และไม่ส่งข้อมูลใด ๆ กลับไปหากคำร้องขอเป็นหมายเลขอื่น
usbMsgLen_t usbFunctionSetup(uint8_t data[8])
{
usbRequest_t *rq = (usbRequest_t*)data;
static uint8_t value[2];
if (rq->bRequest == 38)
{
value[0] = 12;
value[1] = 34;
usbMsgPtr = &value;
return sizeof(value);
}
return 0; // ไม่ส่งข้อมูลกลับโฮสท์หากเป็นคำร้องขออื่น ๆ
}
ตัวอย่างโปรแกรม
ดาวน์โหลดตัวอย่างโปรแกรม usb_generic.tgz แล้วแตกเอาไว้ในไดเรคตอรีที่เก็บ sketch ของ Arduino
เฟิร์มแวร์สำหรับฝั่งดีไวซ์
โค้ดเฟิร์มแวร์อยู่ในไฟล์ usb_generic ซึ่งคอมไพล์ได้แต่ยังทำงานไม่สมบูรณ์ เฟิร์มแวร์ตัวอย่างนี้รองรับคำร้องขอ 2 หมายเลขคือ หมายเลข 0 เป็นการควบคุมสถานะ LED บนบอร์ดพ่วง และหมายเลข 1 เป็นการตรวจสอบสถานะของสวิตช์บนบอร์ดพ่วง ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้ในการอัพโหลดเฟิร์มแวร์ลงบอร์ด
- แก้ไขไฟล์ usbconfig.h ในส่วนที่นิยามมาโคร USB_CFG_DEVICE_NAME เอาไว้เพื่อตั้งชื่ออุปกรณ์ให้เป็น ID รหัสนิสิต
#define USB_CFG_DEVICE_NAME 'I','D',' ','1','2','3','4','5','6','7','8','9','0' <-- แก้เป็นรหัสนิสิตของตน
#define USB_CFG_DEVICE_NAME_LEN 13
- (สำหรับบางคน) แก้ไขไฟล์ Makefile เพื่อระบุไดเรคตอรีต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเครื่องที่ตนใช้งาน
- เปิดเทอร์มินัลเพื่ออัพโหลดเฟิร์มแวร์โดยใช้คำสั่ง
make ispload
- เมื่อเฟิร์มแวร์เริ่มต้นทำงาน ระบบปฏิบัติการจะมองเห็นบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์เป็นอุปกรณ์ USB ทันที จะเห็นได้จากเอาท์พุทของคำสั่ง lsusb บน Ubuntu ที่ปรากฏรายการของอุปกรณ์ที่มี VID/PID เป็น 16c0:05dc แม้จะไม่ได้อยู่ในโหมดบูทโหลดเดอร์ (สำหรับ Mac OS X ให้ใช้คำสั่ง system_profiler แทน)
แอพลิเคชันฝั่งโฮสท์
ขณะที่เฟิร์มแวร์ทำงานอยู่นั้นเราจะมองไม่เห็นผลลัพธ์การทำงานใด ๆ เนื่องจากเฟิร์มแวร์ถูกเขียนไว้ให้ตอบสนองต่อการสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น ภายในไฟล์ตัวอย่างมีไฟล์ชื่อ practicum.py ซึ่งเป็นโมดูลไพทอนที่เราจะนำมาใช้ติดต่อกับบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ผ่านภาษาไพทอน ทดลองเปิดไพทอนเชลล์แล้วโหลดโมดูลมาใช้งาน โดยฟังก์ชันหลักที่เรียกใช้จากโมดูลคือ findBoards() ซึ่งคืนค่าเป็นลิสต์ของอุปกรณ์ USB ทุกตัวที่มี VID/PID เป็น 16c0:05dc ที่ต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์ ณ ขณะนั้น
$ python >>> from practicum import findBoards, McuBoard >>> devices = findBoards() >>> devices [<usb.Device object at 0xd91d70>]
จากนั้นสร้างอ็อบเจกต์ของคลาส McuBoard ขึ้นมาจากอุปกรณ์ตัวแรกในลิสต์
>>> b = McuBoard(devices[0]) >>> b.getVendorName() 'cpe.ku.ac.th' >>> b.getDeviceName() 'ID 1234567890' <- ต้องขึ้นเป็นรหัสนิสิตของตน
ทดลองส่งคำร้องขอหมายเลข 0 (ในเฟิร์มแวร์ถูกโปรแกรมไว้ให้ควบคุมสถานะ LED) เพื่อให้ LED หมายเลข 2 บนบอร์ดพ่วงติดสว่าง ใช้เมท็อต usb_write
ในคลาส McuBoard
ดังนี้
>>> b.usb_write(0, index=2, value=1)
คำสั่งด้านล่างมีผลทำให้ LED หมายเลข 2 ดับ และ LED หมายเลข 1 ติดขึ้นมาแทน
>>> b.usb_write(0, index=2, value=0) >>> b.usb_write(0, index=1, value=1)
ทดลองอ่านสถานะของสวิตช์โดยส่งคำร้องหมายเลข 1 ไปยังบอร์ด MCU
>>> b.usb_read(1, length=1) (0,)
ค่าที่เมทอด usb_read
คืนกลับมาจะเป็นทูเปิลที่มีสมาชิกหนึ่งตัว ตามที่ระบุในเฟิร์มแวร์
ทดลองกดสวิตช์บนบอร์ดพ่วงค้างไว้ แล้วส่งคำร้องไปยังบอร์ด MCU ใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้ควรเป็นดังนี้
>>> b.usb_read(1, length=1) (1,)
เกี่ยวกับหมายเลข VID/PID
ชุดตัวเลข VID/PID ที่กำหนดให้กับอุปกรณ์ USB ไม่ควรตั้งเอาเองตามใจชอบเนื่องจากระบบปฏิบัติการจะอาศัยตัวเลขคู่นี้ในการเลือกซอฟต์แวร์ไดรเวอร์ที่จะมาควบคุมอุปกรณ์ โดยทั่วไปการจะได้มาซึ่งเลข VID/PID เพื่อใช้กับอุปกรณ์ที่เราสร้างขึ้นจำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกของ USB Implementers Forum (ค่าสมาชิกปีละ 4,000 เหรียญสหรัฐ) หรือซื้อตัวเลข VID มาจากผู้ที่เป็นสมาชิกอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม Object Development ผู้พัฒนาไลบรารี V-USB ได้เตรียมชุดตัวเลข VID/PID ไว้ให้เราใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ค่า 16C0:xxxx ที่เราเลือกนำมาใช้งานก็ได้มาจากตัวเลขในชุดดังกล่าว รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดค่า VID และ PID ให้กับอุปกรณ์ USB รวมถึงหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการผลิตอุปกรณ์ USB สู่สาธารณะ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเนื้อหาในไฟล์ USB-ID-FAQ.txt และไฟล์ USB-IDs-for-free.txt ในไดเรคตอรี usbdrv ที่ได้จากการติดตั้งไลบรารี V-USB รวมถึงเอกสาร How to obtain an USB VID/PID for your project